8 ตุลาคม 2024

มร.ลป. จัดประชุมนำเสนอชุดโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง

วันที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ พร้อมด้วย ดร.โอฬาร อ่องฬะ ที่ปรึกษา บพท. อาจารย์ ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และทีมงานวิจัยฯ ได้นำเสนอ ชุดโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง ต่อ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายอำเภอ และตัวแทนนายอำเภอในพื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ประกอบด้วย พื้นที่อำเภอเมืองลำปาง อำเภองาว อำเภอเถิน อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอแม่เมาะ ณ ห้องประชุมโอฬารฤทธิ์ ชั้น 10 อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยลัยราชภัฏลำปาง

ชุดโครงการวิจัยดังกล่าวนี้ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้รับงบอุดหนุนการวิจัย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สาระสำคัญของการประชุมในวันนี้ คือ การนำเสนอกรอบการดำเนินงานวิจัยในปี 2566-2567 ซึ่งประกอบด้วย 6 กรอบหลักๆ ดังนี้ 1) การพัฒนาและยกระดับแนวทางการบูรณาการบริการจัดการในพื้นที่ (Poverty Provincial 2) การพัฒนาและยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Operating System: PPAOS) 3) การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) 4) พัฒนาและยกระดับบทบาทมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางให้เป็นสถาบันการอุดมในพื้นที่ (Area Based University) และการสร้างนักบริหารจัดการพื้นที่ (Area Research Manager) 5) การพัฒนาโมเดลแก้จน (Operating Model) และ 6) การพัฒนายุทธศาสตร์การขจัดความยากจนระดับจังหวัดที่มีเป้าหมายก่อเกิดเส้นทางการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2570

นอกจากนี้ ภายใต้ชุดโครงการวิจัยดังกล่าว ยังประกอบด้วยโครงการย่อยจำนวน 5 โครงการดังนี้          1) โครงการ การบริหารจัดการเพื่อพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ และเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พื้นที่จังหวัดลำปาง 2) การพัฒนาโมเดลแก้จน (Operating Model) เพื่อพัฒนาอาชีพ รายได้ และการเข้าถึงโอกาสการยกระดับฐานะทางสังคมด้วยผลิตภัณฑ์ชุมชน และพืชผลทางการเกษตร อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง  3) การพัฒนาโมเดลแก้จน (Operating Model) เพื่อพัฒนาอาชีพ รายได้ และการเข้าถึงโอกาสการยกระดับฐานะทางสังคมด้วยไผ่และพืชผลทางการเกษตร อำเภองาว และอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 4) การพัฒนาโมเดลแก้จน (Operating Model) เพื่อพัฒนาอาชีพ รายได้ และการเข้าถึงโอกาสการยกระดับฐานะ ทางสังคมด้วยไผ่ และพืชผลทางการเกษตร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และ 5) การพัฒนาโมเดลแก้จน (Operating Model) เพื่อพัฒนาอาชีพ รายได้ และการเข้าถึงโอกาสการยกระดับฐานะทางสังคมด้วยผลิตภัณฑ์ชุมชน และพืชผลทางการเกษตร อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

ภายหลังการนำเสนอ ได้มีการแลกเปลี่ยนกันในที่ประชุม  และรับข้อเสนอแนะจากผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อขับเคลื่อนการขจัดปัญหาความยากจนในพื้นที่อำเภอนำร่อง จังหวัดลำปาง ภายใต้ ชุดโครงการ เรื่อง การพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง