23 พฤศจิกายน 2024

มร.ลป. จัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ การพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พื้นที่จังหวัดลำปาง ครั้งที่ 2/2566

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ การพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พื้นที่จังหวัดลำปาง ณ ห้องประชุมโอฬารรมย์ ชั้น 1 อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยมีอาจารย์ ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านบริการวิชาการ ทำหน้าที่เลขานุการฯการประชุม ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ มีองค์ประกอบจากผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม เป็นการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยน ติดตาม และหาแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ

โดยมีสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ สรุปหัวข้อได้ดังนี้ 1) สรุปผลการค้นหาและสอบทาน “กลุ่มเป้าหมาย” ในพื้นที่ 13 อำเภอ 2) ผลการดำเนินงาน “โมเดลแก้จน” หรือ Operating Model ในพื้นที่อำเภอเถิน (ปี พ.ศ.2565-2566) ซึ่งประกอบด้วย OM 1: การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรแม่มอกเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน พื้นที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง นำร่องในพื้นที่  ตำบลแม่มอก OM 2: การแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยป่าชุมชนในอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง นำร่องในพื้นที่ตำบลแม่มอก และ OM 3: การพัฒนาโมเดลแก้จนอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ด้วยกิจกรรม Quick win นำร่องในพื้นที่ตำบลแม่มอก ตำบลแม่ปะ ตำบลนาโป่ง ตำบลเถินบุรี ส่วนประเด็นที่ 3) การนำเสนอ โครงการ การพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นโครงการ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้รับงบสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอ.วช.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาราชภัฏลำปาง เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ (Area Based University) และสร้างนักบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (Area Research Manager)  และยังประกอบด้วยโครงการย่อย 4 โครงการ เพื่อพัฒนาโมเดล แก้จน (Operating Model) ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ในพื้นที่ อำเภอเถิน อำเภองาว อำเภอแม่เมาะ อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอเมืองลำปาง