มร.ลป. ดำเนินการประชุมหารือแผนงานวิจัย เรื่องการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมโอฬารฤทธิ์ อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หัวหน้าชุดโครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง ดำเนินการประชุมนักวิจัยภายใต้โครงการฯจำนวน 24 คน เพื่อรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ และร่วมวางแผนการดำเนินงานให้เป็นทิศทางเดียวกัน ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวนี้ เป็นโครงการฯต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ได้รับงบสนับสนุนจำนวน 20,000,000 บาท จาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ชุดโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 4 โครงการวิจัยย่อย ได้แก่ 1) โครงการ การพัฒนา และต่อยอดโมเดลแก้จน เพื่อยกระดับศักยภาพ อาชีพ โอกาส และรายได้ของกลุ่มเป้าหมายที่ยากจน พื้นที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง หัวหน้าโครงการคือ ผศ.สุวรรณี จันทร์ตา 2) โครงการ การขับเคลื่อนการขจัดความยากจนเชิงบูรณาการ โดยใช้ต้นทุน ศักยภาพ เทคโนโลยี นวัตกรรม ที่เหมาะสมในพื้นที่ เป็นฐานในการพัฒนา พื้นที่อำเภองาว และอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง หัวหน้าโครงการคือ อ.ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ 3) โครงการ การพัฒนาโมเดลแก้จน: การยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงอาชีพ องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยวิถีชุมชนคนแจ้ห่ม อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง หัวหน้าโครงการคือ ผศ.กาญจนา คุมา 4) โครงการการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม บนฐานการบูรณาการกับภาคี เครือข่าย พื้นที่อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง หัวหน้าโครงการคือ ผศ.ดร.วิศท์ เศรษฐกร

ชุดโครงการวิจัยฯนี้ มุ่งเน้นเอาข้อมูล”คนจนเป้าหมาย” ที่ได้จากการค้นหาและสอบทานในปีที่ 1 (พ.ศ. 2564-2565 และปีที่ 2 (พ.ศ. 2565-2566) ทั้ง 13 อำเภอในจังหวัดลำปางมา พัฒนายกระดับ ทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี โดยแบ่งโมเดลแก้จน ออกเป็น 3 โมเดลหลักๆได้แก่
1) โมเดลแก้จน “เสริม” : กิจกรรมส่งเสริมการลดรายจ่าย สำหรับคนจนที่อยู่ “กลุ่มอยู่ลำบาก”และ “กลุ่มที่อยู่ยาก”
2) โมเดลแก้จน “รอง” : กิจกรรมส่งเสริมการลดรายจ่าย เสริมรายได้ สำหรับคนจนที่อยู่ใน “กลุ่มอยู่พอได้”
3) โมเดลแก้จน “หลัก” : กิจกรรมส่งเสริมการลดรายจ่าย สร้างรายได้ สำหรับคนจนที่อยู่ใน “กลุ่มอยู่ดี”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด