15 มกราคม 2025

สาขาวิชาภาษาไทย(ศศ.บ.) มร.ลป. จัดกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ประจำปีการศึกษา 2567

ผศ.ดร.ตุลาภรณ์  แสนปรน ประธานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรม เนื่องในสัปดาห์ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”  ประจำปีการศึกษา  2567 ในครั้งนี้ว่า ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการกำหนดวันให้เป็นที่ระลึกถึงความสำคัญในภาษาของตนเอง โดยกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” นอกจากนี้คือ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงห่วงใยต่อการใช้ภาษาไทยของคนในชาติ ฉะนั้น สาขาวิชาภาษาไทยในฐานะหน่วยงานที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีทักษะการใช้ภาษาไทยในเชิงวิชาการและวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” มาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกิจกรรมในปีการศึกษา 2567 นี้ สาขาวิชาได้จัดกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ภาษาไทยในบริบทสังคมที่ทันสมัย ทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการและวิชาชีพของนักศึกษาให้สอดคล้องกับคุณลักษณะบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 มากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมวิทยาบัณฑิต อาคาร 52 ชั้น 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยช่วงเช้าเป็นการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “บอร์ดเกมวรรณคดีไทย : การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดทำสื่อการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา” ดำเนินการเสวนาโดย นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.) ชั้นปีที่ 4

สำหรับกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะบอร์ดเกมเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สามารถสร้างเป็นรายได้ให้กับนักศึกษาที่สนใจสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ภาษาและวรรณคดีไทยได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนช่วงบ่ายเป็นการบรรยายทางวิชาการ ในหัวข้อ “การเรียน-การสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศในเมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน” วิทยาการพิเศษโดย Miss ZHANG YUXI จาก Xishuangbanna Vocational and Technical College ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ของสาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.) และคณาจารย์จากสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสำหรับชาวต่างประเทศ เข้าร่วมรับฟังและร่วมซักถามเกี่ยวกับวิธีสอนภาษาไทยในระดับต่างๆ (ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง) ตลอดจนการร่วมอภิปรายถึงบรรยากาศการเรียนรู้ของนักศึกษาชาวจีนที่เรียนภาษาไทยในเมืองสิบสองปันนากันอย่างออกรส

กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาที่สองหรือภาษาต่างประเทศระหว่างคณาจารย์แล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของสาขาวิชาได้สอบถามถึงการเตรียมตัวและแนวปฏิบัติต่างๆ หากต้องการไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางภาษาไทย ณ Xishuangbanna Vocational and Technical College อีกด้วย