เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ผศ.ดร.ขจรศักดิ์ วงศ์วิราช อาจารย์สังกัดสาขาวิชาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิยาลัยราชภัฏลำปาง ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการยกระดับผลิตภัณฑ์และตลาดใหม่ของแปลงใหญ่ส้มเกลี้ยงจังหวัดลำปาง งบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ประจำปีงบประมาณ 2568 พร้อมด้วย พร้อมด้วย ผศ.ดร.อัจฉรา เมฆสุวรรณ และทีมนักวิจัยร่วมพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ หรือ D-HOPE ณ ชุมชนบ้านเกาะหัวช้าง ตำบลพระบาทวังตวง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง โดยมีนายกองตรี ปิยะวุฒิ พิทักษ์บริบาล นายอำเภอแม่พริก เป็นประธานในพิธีเปิด
ทั้งนี้กิจกรรมการเปิดชุมชนท่องเที่ยวตามแนวคิด D-HOPE ของชุมชนบ้านเกาะหัวช้าง ตำบลพระบาทวังตวง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปางดังกล่าว มีการจัดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมในรูปแบบการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติในฐานกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วยการสานตะกร้าและของชำร่วยจากเส้นพลาสติก การทำไม้กวาดพื้นบ้าน การสานตาแหลว การนวดคลายเส้น การทำกล้วยตากโดมพลังงานแสงอาทิตย์ การทำกิมจิคนเมือง การทำกล้วยฉาบ การเยี่ยมชมสวนเกลี้ยงและต้นส้มเกลียงอายุ 100 ปี และการคั้นน้ำส้มเกลี้ยง ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานเกษตรอำเภอ แม่พริก กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในชุมชนบ้านเกาะหัวช้างและตำบลพระบาทวังตวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมและเชื่อมโยงเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยโครงการวิจัยการยกระดับผลิตภัณฑ์และตลาดใหม่ของแปลงใหญ่ส้มเกลี้ยงจังหวัดลำปางได้ร่วมส่งเสริมและนำเสนอการนำผลไม้ส้มเกลี้ยงซึ่งได้รับการรับรองเครื่องหมาย GI หรือเป็นผลไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นำเสนอให้นักท่องเที่ยวเกิดการรับรู้ถึงคุณค่าและอัตลักษณ์ของผลไม้ GI จังหวัดลำปาง ซึ่งได้มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ถึงคุณสมบัติและอัตลักษณ์ของส้มเกลี้ยงลำปาง รวมถึงต้นส้มเกลี้ยงที่มีอายุ 100 ปี เพื่อการโปรโมทและประชาสัมพันธ์ให้แก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งการสร้างโอกาสในการทำตลาดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุที่ให้ความสนใจในการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน