26 ธันวาคม 2024

นศ. ระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย มร.ลป. ศึกษาเรียนรู้ตามโครงการ “ตามรอยวรรณกรรม ความทรงจำ แห่งพื้นที่ทางประวัติศาสตร์”

เมื่อวันที่ 27-30 มีนาคม 2566 หลักสูตรภาษาไทย (ปร.ด) และ (ศศ.ม.) โดย รศ.ดร.บุญเหลือ ใจมโน ผศ.ดร.ขนิษฐา ใจมโน ประธานหลักสูตรฯ พร้อมด้วย รศ.ดร.เจือง ธิหั่ง ผศ.ดร.ธนพร หมูคำ และ ผศ.ดร.สุภาวดี ยาดี นำนักศึกษาในหลักสูตร จำนวน 14 คน ทั้งนักศึกษาชาวไทยและชาวจีน ศึกษาเรียนรู้ตามโครงการ “ตามรอยวรรณกรรมไทยและเรียนรู้วัฒนธรรมไทยผ่านสถานที่ความทรงจำ แห่งพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์”

กิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากภาคีเครือข่ายทางวิชาการ เป็นวิทยากรบรรยายให้คณาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตร ได้แก่ รศ.ดร.สมชัย ศรีนอก อาจารย์สังกัดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.วังน้อย) จ.พระนครศรีอยุธยา นำชมสถานที่และบรรยายในหัวข้อ “วรรณคดีสมัยอยุธยา: ศึกษาผ่านสถานที่ ความทรงจำทางประวัติศาสตร์” รศ.ดร.สำเนียง เลื่อมใส อาจารย์สังกัดภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร บรรยายหัวข้อ “ภาษาและวรรณคดียุคสมัยรัตนโกสินทร์” รศ.ดร.พระเทพวัชราจารย์ และคณะ จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) นำชมสถาปัตยกรรมความทรงจำแห่งพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ด้านศิลปะไทย จีน และตะวันตก ในยุคสมัยรัชกาลที่ 3 และบรรยายหัวข้อ “วรรณกรรมร้อยกรองและร้อยแก้ว: ต้นกำเนิดจากวัดโพธิ์” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ จากสถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายหัวข้อ “การจัดทำระบบเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศด้านภาษาและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ในประเทศไทย” และ ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำชม “พิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี” ความทรงจำแห่งพื้นที่ในยุครัชกาลที่ 4 และบรรยาย ในหัวข้อ “ตามรอยนิราศพระประธม ของสุนทรภู่ และกวีคนสำคัญในจังหวัดนครปฐม”

นอกจากนี้ นักศึกษายังได้แลกเปลี่ยนประเด็นการศึกษากับวิทยากร เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาหัวข้อวิทยานิพนธ์ทางภาษา วรรณกรรม คติชน และการศึกษาเปรียบเทียบ ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก อีกทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์ภาคีเครือข่ายทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งเครือข่ายทางวิชาการระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในหลักสูตรภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง