เมื่อวันที่ 2 – 4 พฤษภาคม 2568 หลักสูตรภาษาไทย (ปร.ด) และ (ศศ.ม.) โดย รศ.ดร.เจือง ธิหั่ง พร้อมด้วย ผศ.ดร.ขนิษฐา ใจมโน ประธานหลักสูตรฯ ผศ.ดร.ธนพร หมูคำ และ ผศ.ดร.สุภาวดี ยาดี นำนักศึกษาในหลักสูตรฯ ศึกษาเรียนรู้วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน ตามโครงการ “ตามรอยภาษา วรรณกรรม และคติชน ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย เพื่อพัฒนาการวิจัย ในระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 3” เป็นโครงการที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 มุ่งเน้นการพัฒนานักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้ศึกษาเรียนรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรม ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเรียนรู้สถาปัตยกรรมทางศาสนสถานที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วัดผาซ่อนแก้ว จังหวัดเพชรบูรณ์ เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเชื่อมโยงวรรณกรรมท้องถิ่น ณ วัดขามแก่น จังหวัดขอนแก่น และได้เรียนรู้สถานที่ผ่านวรรณกรรมลุ่มน้ำโขงที่รู้จักกันในเรื่อง “สินไซ” หรือ “สีโห” หรือ “สังค์ศิลป์ชัย” หรือ “สังข์ทอง” ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเรื่องชาดกนอกนิบาต ที่ศิลปินพื้นบ้านได้วาดภาพจิตกรรมฝาผนังถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อให้ชนรุ่นหลังเรียนรู้วรรณกรรมและเรื่องราวทางวัฒนธรรม ณ “วัดไชยศรี” ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นวัดเก่าแก่ที่มี “สิม” หรือพระอุโบสถอายุร้อยกว่าปี เป็นสิมพื้นบ้านอีสานที่มีจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) บอกเล่าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนอีสาน และวรรณกรรมพื้นเมือง เรื่อง “สินไซ” ที่งดงามมาก ฮูปแต้มด้านในพระอุโบสถเป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) ประกอบภาพเหล่าเทพ บุคคล และสัตว์ต่าง ๆ นอกจากนี้ทางคณะยังได้รับความอนุเคราะห์วรรณกรรมท้องถิ่น “สินไซ” ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย รศ.ดร.เฉลิมเกียรติ มินา และคณะ การเรียนรู้กิจกรรมครั้งนี้ทำให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงเรื่องเล่า นิทานพื้นบ้านและวรรณกรรมกลุ่มลุ่มน้ำโขง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเรียนรู้ภาษา วรรณกรรม และคติชนในเชิงสร้างสรรค์หรือการศึกษาเปรียบเทียบอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไป
ทั้งนี้ ยังได้บูรณาการกับโครงการ “ต้นกล้าวิทยานิพนธ์ ครั้งที่ 2” ซึ่งเป็นการเชื่อมพลังภาคีเครือข่ายทางวิชาการในระดับบัณฑิตศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรด้านภาษาไทย โดยเป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ภูมิทัศน์ภาษาศาสตร์แนวคิดและทฤษฎีในการวิจัยภาษาไทย” โดย ผศ.ดร.ศิระวัสฐ์ กาวิละนันท์ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณาจารย์ในหลักสูตรได้ร่วมวิพากษ์การนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ดังนี้ ห้องภาษาและวัฒนธรรม โดย ผศ.ดร.ขนิษฐา ใจมโน ได้ร่วมวิพากษ์หัวข้อวิทยานิพนธ์ร่วมกับ ผศ.ดร.ศิระวัสฐ์กาวิละนันท์ และ ผศ.ดร.วุฒินันท์แก้วจันทร์เกต ห้องวรรณกรรม 1 โดย รศ.ดร.เจือง ธิหั่ง ได้ร่วมวิพากษ์หัวข้อวิทยานิพนธ์ ร่วมกับ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ และ อาจารย์ ดร.อุมารินทร์ ตุลารักษ์ และห้องวรรณกรรม 2 โดย ผศ.ดร.ธนพร หมูคำ และ ผศ.ดร.สุภาวดี ยาดี ได้ร่วมวิพากษ์หัวข้อวิทยานิพนธ์ร่วมกับ ผศ.ดร.มารศรีสอทิพย์ และ อ.ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์
โดยเป็นการเปิดเวทีทางวิชาการให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์หรือประเด็นที่สนใจศึกษา ทั้งด้านภาษาไทย ภาษาศาสตร์ วรรณคดี และคติชนวิทยา ซึ่งทางหลักสูตรฯ มีนักศึกษา ป.โท และ นักศึกษา ป.เอก ร่วมนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ จำนวน 6 คน เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิวิพากษ์และแนะนำการพัฒนาผลงานของนักศึกษา อันจะทำให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ “ต้นกล้าวิทยานิพนธ์” สามารถเชื่อมโยงประเด็นการศึกษากับระเบียบวิธีวิจัยใหม่ ๆ ผ่านกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในเชิงการพัฒนาและสร้างสรรค์ทักษะทางวิชาการ เพื่อให้การวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษามีความลุ่มลึกทางวิชาการและน่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์พลังภาคีเครือข่ายทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยนเรศวร