15 ตุลาคม 2024

ทีมวิจัย มร.ลป. โมเดลแก้จนร่วมเวทีตลาดนำการผลิตกลุ่มเกษตรดาวเรือง

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ผศ.ดร.ธนพร หมูคำ หัวหน้าโครงการวิจัยการส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรพื้นที่สูงและการท่องเที่ยวชุมชน พร้อมด้วยผศ.ดร.ขจรศักดิ์ วงศ์วิราช หัวหน้าแผนงานวิจัยการบริหารจัดการเพื่อการสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนา Operating Model พื้นที่นำร่อง ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง และ ผศ.ดร.จักรชัยวัฒน์ กาวีวงศ์ นักวิจัย ร่วมเวทีติดตามและขยายผลเชิงพื้นที่เกษตรกร/กลุ่มเปราะบางที่เข้าร่วมโครงการวิจัยในการแก้ปัญหาความยากจนจากการดำเนินการส่งเสริมการใช้ศักยภาพเชิงพื้นที่ในการเพาะปลูกพืช ดอกไม้ และผลิตทางการเกษตรบนพื้นที่สูงเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ณ ศาลาหมู่บ้านชุมชนบ้านหัวเมือง ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง โดยเวทีดังกล่าวเป็นผลจากการดำเนินการนำร่องส่งเสริมให้เกษตรกรและกลุ่มเปราะบางปลูกดอกดาวเรืองเพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่คนจนในพื้นที่ และเป็นเกษตรทางเลือกในการส่งเสริมในระดับพื้นที่จากความร่วมมือของทีมนักวิจัยและสถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. รวมทั้งสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองปาน และองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง

ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าวมีนายธนกร ลภัสเตชนนท์ ผู้ประกอบการร้านมายฟลาวเวอร์ ร้านจำหน่ายดอกไม้สดตลาดไท และนางสาวนาถยา คิดคำส่วน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองปาน เข้าร่วมเวทีเสวนาและประชุมกลุ่มย่อยเกษตรกร/กลุ่มเปราะบางทั้งรายเดิมและรายใหม่หารือถึงแนวทางและวางแผนการเพาะปลูกตามความต้องการของตลาด รวมทั้งยังให้การรับรองในการรับซื้อผลผลิตดอกดาวเรืองแบบตัดดอกเพื่อจำหน่ายในตลาดไทของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ และการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยสำหรับการขยายพื้นที่เพาะปลูกและการจัดการพื้นที่เพาะปลูกที่สามารถจำหน่ายตามความต้องการของตลาดที่มีจำนวนมากเพื่อเป็นการป้องกันผลผลิตล้นตลาดและผลผลิตขาดตลาด โดยเป็นแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกตามแนวทางการตลาดนำการผลิตที่เกษตรกรและกลุ่มเปราะบางสามารถเรียนรู้เพื่อวางแผนในการดำเนินการได้

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธนพร หมูคำ หัวหน้าโครงการกล่าวว่า การดำเนินงานโครงการย่อยภายใต้แผนงาน Operating Model พื้นที่นำร่อง ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง มีเป้าหมายหลักคือการสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่คนจนหรือกลุ่มเปราะบางจากการค้นหาและสอบทานภายใต้แผนงานวิจัยการบริหารจัดการเพื่อการสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำพื้นที่จังหวัดลำปาง ซึ่งมี อาจารย์ ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นหัวหน้าแผนงานภายใต้ทุนอุดหนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ประจำปี 2564 ซึ่งจากการดำเนินงาน Operating Model พื้นที่นำร่อง ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ดังกล่าวสามารถนำเกษตรกร รวมทั้งคนจนหรือกลุ่มเปราะบางอย่างน้อยจำนวน 30 ราย เข้ากระบวนการของการดำเนินการเพาะปลูกดอกดาวเรืองที่นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่

ภาพ/ข่าว : ผศ.ดร.ขจรศักดิ์ วงศ์วิราช