22 ธันวาคม 2024

มร.ลป. ร่วมกิจกรรมระดมความคิดเห็นการกำหนดกลยุทธ์เทคโนโลยีมุ่งเน้นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ครั้งที่ 1

ผศ.วศิน์วิโรตม์ เนติศักดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านสารสนเทศวิชาการและพลังงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.ณรงค์ คชภักดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วมกิจกรรมระดมความคิดเห็นการกำหนดกลยุทธ์เทคโนโลยีมุ่งเน้นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (NEC, NeEC, CWEC และ SEC) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ณ Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โดย รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน พร้อมนำทีมผู้บริหารอุทยานฯ ร่วมวางรากฐานการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคตร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่จากภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลความต้องการด้านเทคโนโลยีของกลุ่มอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่าง ๆ และแนวโน้มที่ส่งผล ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและการดำเนินงานร่วมกับสถานประกอบการ นำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ โดยอ.ดร.ภวิกา มงคลกิจทวีผล ผู้จัดการทั่วไปอุทยานฯ ได้ให้การกล่าวแนะนำภาพรวมโครงการฯ ร่วมด้วยทีมวิทยากร (Facilitator) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก และเชื่อมโยงมุมมองที่หลากหลายของผู้เข้าร่วม และสรุปประเด็นสำคัญจากการแลกเปลี่ยนให้เป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงอีกด้วย  ซึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นครอบคลุม 3 เทคโนโลยีสำคัญ ประกอบด้วย เทคโนโลยีสารสกัด เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีพลาสมา โดยมุ่งเน้นการหารือใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1 “Vision & Goal กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ” 2 “Need and Expectation Analysis ของเทคโนโลยีมุ่งเน้น” และ 3 “การวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend) โอกาส (Opportunities) และ ความท้าทาย (Challenges) ของเทคโนโลยีมุ่งเน้น และการพัฒนา Scenario ของเทคโนโลยีมุ่งเน้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ” พร้อมทั้งได้มีกิจกรรมถาม – ตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อรวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป