สสส. ร่วมกับ ม.ราชภัฏ 38 แห่ง โดยการประสานงานของทีมวิจัย มร.ลป. MOA ขับเคลื่อน “โครงการมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนนในมหาวิทยาลัย”
เมื่อระหว่างวันที่ 25 – 27 มิถุนายน 2567 รศ.ดร.ปริเยศ สิทธิสรวง รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมด้วย รศ.วิไลลักษณ์ พรมเสน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการต่างประเทศ อ.ศักดิ์ชัย ศรีมากรณ์ รองคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผศ.อนุกิจ เสาร์แก้ว สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ อ.ดร.ปิยรัตน์ วงศ์จุมมะลิ อาจารย์สังกัดสาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมทีมวิจัยฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) ขับเคลื่อน “โครงการมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนนในมหาวิทยาลัย” ณ โรงแรม ทีเค. พาเลช แอนด์ คอนเวนชั่นกรุงเทพมหานคร
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) ขับเคลื่อนโครงการมาตรการองค์กรในครั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยทางถนนในมหาวิทยาลัย เป็นการขยายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ (38 แห่ง) กับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินงานร่วมกัน 4 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนองค์กรตามมาตรการความปลอดภัยทางถนนในมหาวิทยาลัย ซึ่งยกร่างภายใต้แนวทางการดำเนินงานตามแผนโลกทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ค.ศ. 2021 – 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานตามแนวทางวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (Safe System Approach) ตามมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย โดยลดจำนวนการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงเป็นแนวทางป้องกัน สร้างความตระหนัก ความมีวินัย พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและบุคลากรให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ มาตรการความปลอดภัยทางถนนในมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยลดความสูญเสียอันเกิดจากอุบัติเหตุทางถนน และตอบตัวชี้วัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วยตัวชี้วัดที่ 4 Green Sustainability ของสถาบันชุมชนและสังคม ตัวชี้วัดที่ 6 Research and Service in the Region ตัวชี้วัดที่ 11.2 ภายในปี ค.ศ. 2030 การส่งเสริมให้มีการจัดหาขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและปลอดภัย และตัวชี้วัดที่ 17.16 การยกระดับความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในทุกด้าน ทั้งด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี โดยการดำเงินงานดังกล่าว สสส.เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อนแผนงานความปลอดภัยทางถนนให้ได้ตามเป้าหมายอีกด้วย