นักศึกษา ศศ.ม. ภาษาไทย มร.ลป. ลงภาคสนามศึกษาภาษา เรื่องเล่า อัตลักษณ์ชุมชน : บูรณาการรายวิชา
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2567 หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จัดการเรียนรู้ในรายวิชาวรรณกรรมกลุ่มชาติพันธุ์กับการพัฒนาท้องถิ่นบูรณาการกับรายวิชาสัมมนา โดยมีผู้สอน คือ ผศ.ดร.ธนพร หมูคำ และผศ.ดร.สุภาวดี ยาดี นำนักศึกษาระดับ ป.โท ลงพื้นที่ภาคสนาม พื้นที่ บ้านร่องห้า หมู่ที่ 5 ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน หลังจากศึกษาแนวคิด/ทฤษฎี ออกแบบข้อคำถาม สร้างเครื่องมือ ตรวจสอบเครื่องมือ ปรับปรุงแก้ไขตามระเบียบวิธีวิทยาวิจัยและการวิจัยในมนุษย์ โดยนักศึกษาเลือกพื้นที่จังหวัดลำพูนเป็นกรณีศึกษา
การลงพื้นที่ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรียนรู้ภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลื้อ-ไทยยอง พื้นที่บ้านร่องห้า ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยแบ่งนักศึกษาเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) เก็บข้อมูลด้านอัตลักษณ์อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลื้อ-ไทยยอง 2) เก็บข้อมูลเรื่องเล่า ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ประเพณี/วิถีชีวิตของคนในชุมชน และ3) เก็บข้อมูลความเชื่อตามแนวพุทธและความเชื่อเรื่องผีของชุมชน นักศึกษาแต่ละกลุ่มต่างมีความพยายามและเตรียมพร้อมค่อนข้างดีแม้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาชาวจีน พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่วิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางในโครงการ U2T ในปี 2562 ที่ผู้สอนเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานที่รับผิดชอบพื้นที่ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จากวัดนางเกิ้งเป็นพื้นที่เก็บข้อมูล โดยมีวิทยากรผู้บอกภาษาและให้ข้อมูลนักศึกษาแต่ละกลุ่ม ได้แก่ พระครูโกศล บุญนิวิ คุณลุงบุญยัง มณีกาศ คุณลุงศรีใย สุภายอง คุณป้าคำเอ้ย ตื้อนวล คุณลุงศรีวัย คำออน คุณลุงสมบัติ ปันดอนตอง คุณป้าทัศนีย์ พงศ์ดา คุณลุงโกศล มาปินตา นางสาวศศิกาญจน์ พงศ์ดา และนางสาวพิจิตรา มาปินตา
กิจกรรมครั้งนี้นักศึกษาต่างได้รับความรู้และได้ทักษะการใช้ภาษาในการสัมภาษณ์วิทยากรผู้บอกภาษา ได้ฝึกทักษะกระบวนการภาคสนาม ส่งเสริมการเกิดทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งได้กระชับมิตรระหว่างเพื่อนในชั้นเรียน และอาจารย์ผู้สอนในการศึกษาเรียนรู้ภาคสนาม จากนั้นได้นำนักศึกษาศึกษาสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนบ้านดอนหลวง เพื่อเก็บข้อมูลด้านการใช้ภาษาในชุมชนอีกด้วย