23 ธันวาคม 2024

มร.ลป. MOU เพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ ภายใต้ โครงการ การพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ ภายใต้ โครงการ การพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ณ สวนสาธารณะสะพานโยง หมู่ 3 ตำบลหลวงใต้ อำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยนายสมจิตร จุลเจริญ   นายอำเภองาว  เป็นประธานในพิธีเปิด  อ.ดวงใจ พุทธวงศ์ ตัวแทนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวรายงาน  ซึ่งรศ.ดร.ปริเยศ สิทธิสรวง รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผศ.วุฒิรัตน์ พัฒนิบูลย์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านติดตามนโยบายและกิจการพิเศษ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้ดำเนินโครงการ การขับเคลื่อนการขจัดความยากจนเชิงบูรณาการ โดยใช้ต้นทุน ศักยภาพ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา พื้นที่อำเภองาว ภายใต้ การสนับสนุน จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโมเดลแก้จนผ่านนวัตกรรมพร้อมใช้ เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate technology) เพื่อยกระดับครัวเรือนยากจนให้มีอาชีพ รายได้ สร้างโอกาส และยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) ของครัวเรือนยากจนด้วยการเข้าถึง ทักษะ ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม นำเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต (Pro-poor Value Chain) อย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์การขจัดความยากจนในพื้นที่อำเภองาว ภายใต้ โครงการฯดังกล่าว ได้ดำเนินการปฏิบัติการแก้จน หรือ Operating Model (OM) ในพื้นที่ 10 ตำบล ในอำเภองาว ซึ่งประกอบด้วย เทศบาลตำบลหลวงใต้ เทศบาลตำบลหลวงเหนือ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านอ้อน องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวด องค์การบริหารส่วนตำบลนาแก   องค์การบริหารส่วนตำบลปงเตา องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตีบ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร้อง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง

การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี (พ.ศ. 2567-2570) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ 10 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ของกลุ่มต่างๆในพื้นที่ สามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมรวมถึง ภาคประชาชน และกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน  พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดพื้นที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ 10 ตำบลของอำเภองาว จังหวัดลำปาง ที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากโครงการกิจกรรมตามภารกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในชุมชนต่อไป