อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นำนักวิจัยโครงการแก้จน ฯ เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผนึกกำลังเดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกัน
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมด้วย รศ.วิไลลักษณ์ พรมเสน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการต่างประเทศ นำทีมนักวิจัย อ.ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ (ที่ปรึกษาโครงการ) ผศ.นราธิป วงษ์ปัน รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ผศ.ดร.ปิยรัตน์ วงศ์จุมมะลิ อาจารย์สังกัดสาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน ผศ.ดร.วิศท์ เศรษฐกร อาจารย์สังกัดสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ผศ.ดร.สุภาวดี ยาดี อาจารย์สังกัดสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และนางสาววิไลรัตน์ วันกมลสวัสดิ์ นักวิจัยสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เข้าพบ นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ณ ห้องประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อหารือแนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมของจังหวัดลำปาง ปี 2567
ในการนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการและแนะนำทีมนักวิจัย อีกทั้ง อ.ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ ได้สรุปบทเรียนชุดประสบการณ์โครงการวิจัยแก้จน ปี 2564 – 2566 ทั้งนี้ รศ.วิไลลักษณ์ พรมเสน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการต่างประเทศ ม.ราชภัฏลำปาง ยังได้มีการนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนโครงการวิจัยแก้จนฯ ในปี 2567 ซึ่งประกอบไปด้วยประเด็นการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิง ยุทธศาสตร์ และเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พื้นที่จังหวัดลำปาง นำเสนอโดย ผศ.ดร.วิศท์ เศรษฐกร อาจารย์สังกัดสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาความยากจน นำเสนอโดย ผศ.นราธิป วงษ์ปัน รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ให้ข้อเสนอแนะถึงแนวทางในการพัฒนาโครงการฯ ให้สามารถนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีการยกตัวอย่างผลการดำเนินงานที่ผ่านมาซึ่งเป็นประโยชน์แก่โครงการได้นำมาวางแผนให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ รวมไปถึงการหารือเพื่อสานต่อโครงการร่วมกัน ตามเป้าหมายเพื่อให้จังหวัดลำปางสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง อันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ สังคมท้องถิ่นอย่างยั่งยืนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป