มร.ลป. จัดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน โครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พื้นที่จังหวัดลำปาง ครั้งที่ 4/2566
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ผศ.ดร.พงศธร คำใจหนัก รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริการวิชาการ มหาวิยาลัยราชภัฏลำปาง ให้การต้อนรับ และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน โครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พื้นที่จังหวัดลำปางครั้งที่ 4/2566 ซึ่งมีองค์ประกอบของหัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนภาคประชาสังคม และนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ภายใต้โครงการ การพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม ในพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยมีนายวิชญ์ธวัช อัจฉริยฉัตรา ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุม
ในการนี้อ.ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ อาจารย์สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำหน้าที่เลขานุการการประชุม โดยมีวาระการประชุมคือ การรายงานความก้าวหน้าของการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ SRA:DSS (Decision Support System) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และหน่วยงานระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง การรายงานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปาง และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมในการจัดเวทีวิชาการ การยกร่างและพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุสู่สังคมสูงวัยเป็นนโยบายสาธารณะของหน่วยงานในจังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 และการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปาง ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2566 Provincial Poverty “สานพลังภาคียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนจังหวัดลำปาง” เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโอฬารรัตน์ ชั้น 1 อาคารโอฬาร โรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และการเข้าพบนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 เพื่อปรึกษาแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนพื้นที่จังหวัดลำปาง ส่วนวาระเพื่อพิจารณา เป็นการรายงานผลการดำเนินงานพื้นที่อำเภอนำร่องOperating Model ใน 5 อำเภอประกอบด้วยพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอเถิน อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว และอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นการขจัดความยากจนด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของนักวิจัย ภายใต้โครงการวิจัย โครงการการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับงบสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวอช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาเพิ่มเติมหน่วยงานที่จะร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ และการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ซึ่งที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยน และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ร่วมถึงแนวทางการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนการขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม ต่อกลุ่มเป้าหมาย คือครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดลำปาง อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป