22 มกราคม 2025

มร.ลป. และ มทร.ล้านนา MOU ร่วมกับ 22 หน่วยงาน เพื่อขับเคลือนการขจัดความยากจน

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 22 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการขจัดความยากจน ภายใต้ โครงการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง และโครงการกระบวนการมีส่วนร่วมยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าร่วมทางสังคมของคนจนเป้าหมายพื้นที่วิจัยจังหวัดลำปาง ณ ห้องโอฬารรมย์ อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยรศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ให้การต้อนรับ และผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ร่วมลงนาม และเป็นสักขีพยาน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

หน่วยงานภาคีความร่วมมือประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ วิทยาลัยอินเตอร์เทค ลำปาง วิทยาลัยเทคนิคลำปาง วิทยาลัยเทคนิคกฟผ.แม่เมาะ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดลำปาง สำนักงานจังหวัดลำปาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดลำปาง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำปาง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) สำนักงานประมงจังหวัดลำปาง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัดลำปางเป็นที่ปรึกษา

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จัดทำขึ้นจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่มีความมุ่งมั่นและเห็นความสำคัญในการขจัดความยากจนและสร้างโอกาสให้กับครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดลำปาง รวมถึง การแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสม ในพื้นที่ 5 อำเภอนำร่อง “โมเดลแก้จนลำปาง” ได้แก่ อำเภอเถิน อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว อำเภอแม่เมาะ และอำเภอเมืองลำปาง ทั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในจังหวัดลำปาง ซึ่งสอดคล้อง กับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 347/2563 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เรื่องการจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) และเพื่อตกลงร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อบูรณาการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้ครอบคลุมในทุกมิติแบบองค์รวม และให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเอง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการบูรณาการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อครัวเรือนยากจน อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง แม่นยำ และยั่งยืนต่อไป