มร.ลป. จัดการปัจฉิมนิเทศและมอบประกาศนียบัตร โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ประจำปี 2566
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ผศ.สุวรรณี จันทร์ตา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นประธานพิธีปัจฉิมนิเทศและมอบประกาศนียบัตร พร้อมกล่าวให้โอวาส โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) ประจำปี 2566 ณ ห้องประชุมเอื้องหลวง ชั้น 2 อาคาร 52 คณะครุศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยผศ.ดร.ปัณณทัต กัลยา อาจารย์สังกัดสาขาวิชาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ คณะวิทยาการจัดการ กล่าวรายงาน พร้อมกันนี้ได้มีการเสวนาผลที่ได้ร่วมหลักสูตร ได้รับเกียรติจากคุณจรูญ ศิริคำเพ็ง จากชุมชนนาแก้ว ตัวแทนจากหลักสูตรการพัฒนาวิสาหกิจผู้ผลิตสินค้า OTOP ขนาดกลางและขนาดย่อม คุณผ่องพุท รอนไพริน เจ้าของสวนผ่องพุทธคุณ ตัวแทนจากหลักสูตรการสร้างและพัฒนาศักยภสพชุมชนเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นนวัตกรชุมชน คุณวิชัย วงศ์ไชย ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนประชารัฐธรรมคุณ ตัวแทนจากหลักสูตรครูนวัตกรด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ และนางสาวศศธร เครือนันตา รักษาการหัวหน้างานประชาสัมพันธ์ เป็นผู้อำเนินการเสวนา
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ให้ดำเนินงานโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) ซึ่งมีการดำเนินการ ในช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมการเรียนการสอนจำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1. หลักสูตรการพัฒนาวิสาหกิจผู้ผลิตสินค้า OTOP ขนาดกลางและขนาดย่อมสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ผู้เข้าร่วมศึกษาในหลักสูตรเป็นผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้า OTOP ในจังหวัดลำปาง จำนวนทั้งสิ้น 40 คน 2. หลักสูตรการสร้างและพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อมุ่งไปสู่นวัตกรชุมชน ผู้เข้าร่วมศึกษาในหลักสูตร ได้แก่ ผู้นำชุมชน เกษตรกรในชุมชน รวมไปถึงผู้ประกอบการผลิตสินค้าชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 40 คน 3.หลักสูตรการพัฒนาครูนวัตกรด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ผู้เข้าร่วมศึกษาในหลักสูตร ได้แก่ ครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในจังหวัดลำปาง จำนวนทั้งสิ้น 40 คน ซึ่งได้ดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทุกประการ โดยหลักสูตร Non-Degree ทั้ง 3 หลักสูตร มุ่งเน้นการเสริมทักษะที่จำเป็นทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพให้กับผู้เข้าร่วมหลักสูตรที่จะนำไปสู่การขยายผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งผู้เข้าร่วมหลักสูตร ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเยาวชน สังคม และเศรษฐกิจต่อไป