19 ธันวาคม 2024

หลักสูตรภาษาไทย (ศศ.ม) และหลักสูตรภาษาไทย (ปร.ด.) มร.ลป. ตามรอยวรรณคดี ร่องรอยเรื่องเล่าประเพณี วัฒนธรรมไทย-จีน พื้นที่เศรษฐกิจ ภาคตะวันออก

เมื่อระหว่างวันที่ 19 – 21 มกราคม 2567 หลักสูตรภาษาไทย (ศศ.ม) และ หลักสูตรภาษาไทย (ปร.ด.) จัดโครงการ “ตามรอยวรรณคดีและวัฒนธรรมไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย เพื่อพัฒนาการวิจัยทางภาษา วรรณกรรม และคติชน ในระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 2” โดยมี ผศ.ดร.ธนพร หมูคำ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ พร้อมด้วย รศ.ดร.บุญเหลือ ใจมโน ผศ.ดร.ขนิษฐา ใจมโน ประธานหลักสูตรฯ รศ.ดร.เจือง ธิหั่ง และผศ.ดร.สุภาวดี ยาดี อาจารย์ประจำหลักสูตร ได้นำนักศึกษา จำนวน 22 คน ทั้งชาวไทยและชาวจีน ลงพื้นที่ภาคสนาม ศึกษาเรียนรู้กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาคีเครือข่ายทางวิชาการ ณ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร และภาควิชาศาสนาและปรัชญา สาขาวิชาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งยังได้ลงพื้นที่ภาคสนามศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ด้านเรื่องเล่า วัฒนธรรมไทย-จีน ในพื้นที่เศรษฐกิจ ของภาคตะวันออก และเข้าศึกษาเรียนรู้ส่วนแสดงทางทะเล ณ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

กิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จาก อ.ดร.วุฒินันท์ แก้วจันทร์เกตุ และผศ.ดร.ศิระวัสฐ์ กาวิละนันท์ อาจารย์สังกัดภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อ “การวิจัยและเทคนิคการตีพิมพ์บทความทางภาษาไทย” และร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นเทคนิค วิธีการในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาด้านการใช้ภาษาในการเรียบเรียงบทความจากงานวิจัยระดับชาติและระดับนานาชาติ  ผศ.ดร.ชัยณรงค์ ศรีมันตะ ผศ.เทพพร มังธานี อาจารย์สังกัดภาควิชาศาสนาและปรัชญา และสาขาวิชาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “อิทธิพลของพุทธศาสนาต่อวิถีชีวิตในสังคม” และ อ.ดร.ชูศักดิ์  สุวิมลเสถียร อาจารย์สังกัดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บรรยายในหัวข้อ “รอยต่อวัฒนธรรมไทย-จีน ในพื้นที่ภาคตะวันออก” ซึ่งคณาจารย์ นักศึกษา ได้แลกเปลี่ยนประเด็นการศึกษากับวิทยากร เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาหัวข้อวิทยานิพนธ์ทางภาษา วรรณกรรม คติชน และการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่ระหว่างไทย-จีน ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก อีกทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์ภาคีเครือข่ายทางวิชาการระดับบัณฑิตศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา และยังเป็นการสร้างพลังทางวิชาการระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องของนักศึกษาในหลักสูตรอีกด้วย