19 ธันวาคม 2024

มร.ลป. รายงานความก้าวหน้าโครงการการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานภายใต้ โครงการการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง  โดยการนำของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผศ.วุฒิรัตน์ พัฒนิบูลย์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านติดตามนโยบายและกิจกรรมพิเศษ และตัวแทนนักวิจัยในโครงการฯ ได้แก่ อ.ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านบริการวิชาการ พร้อมด้วย ผศ.นราธิป วงษ์ปัน  ผศ.ดร.วิศท์ เศรษฐกร และผศ.กาญจนา รัตนธีรวิเชียร คณะนักวิจัยในโครงการฯ  ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดลำปาง

 

การรายงานผลการดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยฯในครั้งนี้ มีตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมประชุมด้วย ประกอบด้วย หัวหน้าสำนักงานจังหวัด พัฒนาการจังหวัด นายอำเภองาว นายอำเภอเถิน ปลัดอำเภอเมืองลำปาง ปลัดอำเภอเกาะคา ตัวแทนอำเภอแจ้ห่ม  การนำเสนอผลการดำเนินงานแบ่งหัวข้อการนำเสนอตามวัตถุประสงค์ 5 ข้อของโครงการฯ ทั้งที่เป็นผลการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย: ก่อเกิดกลไกระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เชิงปฏิบัติ: เกิด Platform ระดับตำบลทำให้กลุ่มครัวเรือนยากจนที่ได้จากการค้นหา และสอบทานเข้าสู่กิจกรรมลดรายจ่าย และกิจกรรมยกระดับรายได้ตามศักยภาพและสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งอยู่ในระหว่างการเตรียม “คน” เตรียม“พื้นที่” โดยนำร่องใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเถิน อำเภองาว อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ และอำเภอแจ้ห่ม ส่วนผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนระบบสนับสนุนระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (DSS: Decision Support System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจน

 

ภายหลังการนำเสนอผลการดำเนินงานฯ นายชัชวาลย์  ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ให้คำแนะนำ รวมถึงข้อสังเกต ในหลากหลายประเด็น เช่น ฐานข้อมูล “ครัวเรือนยากจน”ที่ต้องจำแนกรายละเอียดสัดส่วนของครัวเรือนยากจน สภาพปัญหา แนวทาง วิธีการแต่ละพื้นที่อาจไม่เหมือนกัน ดังนั้น การดำเนินงานต้อง “ถูกคน” “ถูกต้อง” และ”ถูกวิธี”  ส่วนระบบสารสนเทศ ควรเป็นระบบที่ลดความซ้ำซ้อน  ความแตกต่างอย่างไรกับระบบ TPMAP ThaiQM  และหน่วยงานราชการสามารถใช้ประโยชน์ได้เพื่อลดปัญหาความยากจน