สาขาวิชาภาษาไทย ศศ.บ. มร.ลป. ร่วมเป็นวิทยากร จัดแสดงนิทรรศการ ผลงาน “พญาพรหมโวหารกวีเอกล้านนา”
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 คณะกรรมการบริหารศูนย์พัฒนานักศึกษาเพื่อความเป็นเลิศทางภาษาไทย นำโดยอ.ตุลาภรณ์ แสนปรน เลขานุการสาขาวิชาภาษาไทย อ.ภาณุวัฒน์ สกุลสืบ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย และอ.ดร.อรทัย สุขจ๊ะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย ได้รับเชิญจากเทศบาลนครลำปาง ให้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ผลงาน และเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิบรรยายในบูธจัดแสดงนิทรรศการหัวข้อ “พญาพรหมโวหารกวีเอกล้านนา” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแด่ “พญาพรหมโวหาร” กวีเอกและบุคคลสำคัญของจังหวัดลำปาง ณ อนุสาวรีย์พญาพรหมโวหาร ฝายน้ำแม่วังเฉลิมพระเกียรติ ฝั่งบ้านดง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
พญาพรหมโวหาร เป็นกวีเอกชาวล้านนาผู้หนึ่ง เป็นผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับกวีเอกของไทยคือ พระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ ประวัติชีวิตของพญาพรหมโวหารก็โลดโผนไม่แตกต่างกัน ท่านมีผลงานที่เป็นวรรณคดีเรื่องเอกหลายเรื่อง มีความสามารถหลากหลายทั้งในการอ่าน หรือ “อื่อ” กาพย์ล้านนาเป็นท่วงทำนองต่าง ๆ และยังสามารถเทศน์ธรรมแบบล้านนาได้อย่างไพเราะ มิเพียงเท่านั้น ท่านยังเป็นผู้มีความรอบรู้ในศาสตร์ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และคชศาสตร์อย่างรอบด้าน
ในด้านการประพันธ์นั้น อาจกล่าวได้ว่าพญาพรหมโวหารก็เป็นกวีเอกผู้หนึ่งที่มีผลงานโดดเด่นมากผู้หนึ่งในล้านนา ท่านสามารถประพันธ์ผลงานด้วยฉันทลักษณ์หลากหลายประเภททั้งกาพย์ กะโลง คร่าว ฯลฯ ผลงานของท่านมีทั้งที่แต่งร่วมกับพญาโลมวิไสยผู้เป็นอาจารย์ เช่นคร่าวเรื่องหงส์ผาคำ และผลงานที่ท่านแต่งเพียงผู้เดียว อาทิ คร่าวใคร่สิกข์ คร่าวช้างขึด คำจ่มพญาพรหม คร่าวร่ำนางชม คร่าวซอเรื่องพระอภัยมณี เป็นต้น
การจัดแสดงนิทรรศการดังกล่าว ยังได้รับเกียรติจาก อ.ดร.อรทัย สุขจ๊ะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาคำศัพท์ภาษาถิ่นล้านนาที่ปรากฏในวรรณกรรมค่าวซอของพระยาพรหมโวหาร” ซึ่งมุ่งศึกษาคำศัพท์ภาษาไทยถิ่นเหนือหรือภาษาถิ่นล้านนาที่ปรากฏในวรรณกรรมค่าวซอเรื่องต่างๆ ที่เป็นผลงานของพญาพรหมโวหาร ทั้งนี้ ผู้สนใจศึกษาสามารถศึกษาผลงานของพญาพรหมโวหาร ในรายวิชาวรรณคดีล้านนา วิชาโทวรรณคดีและวัฒนธรรมศึกษา ของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ซึ่งมีอาจารย์ตุลาภรณ์ แสนปรน และอาจารย์ภาณุวัฒน์ สกุลสืบ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีล้านนาและวัฒนธรรมศึกษาเป็นผู้สอนหลัก
ภาพ/ข่าว : หอมนวล ศรีริ