มร.ลป. จัดการประชุม “การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโครงการ U2T for BCG ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พื้นที่จังหวัดลำปาง” และกิจกรรม MHESI Street Art
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโครงการ U2T for BCG ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พื้นที่จังหวัดลำปาง” พร้อมทั้งได้ร่วมประชุมหารือแนวทางและวัตถุประสงค์ในการถอดบทเรียนโครงการ U2T for BCG พื้นที่จังหวัดลำปาง ณ ห้องประชุมโอฬารรมย์ ชั้น 1 อาคารโอฬาร โรจน์หิรัญ
จากนั้น อ.ดร.ชรัญรักษ์ ปัญญามูลวงษา อาจารย์ผู้จัดการตำบลเวียงเหนือ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมโครงการ U2T ตำบลเวียงเหนือ นำเสนอรายงานผลการดำเนินโครงการ ของตำบลเวียงเหนือ ณ วัดนางเหลียว ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง พร้อมทั้งนำเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการ U2T for BCG เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานงานพุทธศิลป์ (ระยะที่ 1) และการนำอัตลักษณ์ลวดลายลำปางสู่การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์(ระยะที่ 2) ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์พู่ขนม้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และพานขันลวดลายละกอนไส้หมู
โดยในช่วงเย็น มีการจัดพิธีเปิดกิจกรรม MHESI Street Art สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสู่อัตลักษณ์ท้องถิ่น ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ เขื่อนยาง เทศบาลนครลำปาง จังหวัดลำปาง โดย ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานพิธี ผศ.ดร.พงศธร คำใจหนัก รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริการวิชาการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ โดยมี รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และนายกิตติ จิวะสันติการ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครลำปาง พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมวาดภาพจิตรกรรมประกอบพิธีเปิดในครั้งนี้
กิจกรรมดังกล่าว สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) ได้มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการ อว.ส่วนหน้า มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จัดขึ้นโดยการนำข้อมูลของเมืองลำปางมาถ่ายทอดผ่านผลงาน Street Art เพื่อเป็นการเผยแพร่ภาพลักษณ์และสร้างความน่าสนใจ กระตุ้นให้ชาวลำปางได้ตระหนักถึงศิลปวัฒนธรรมและสร้างจุดเศรษฐกิจให้กับจังหวัดลำปาง ภายในงานมีการแสดงดนตรีโฟล์คซอง จากสาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคม การปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงานสตรีทอาร์ตและงานศิลปกรรม โดยใช้แรงบันดาลใจ ด้านประวัติศาสตร์และสถานที่สำคัญของจังหวัดลำปาง และยังนำผลงานประติมากรรมเซรามิก เครื่องปั้นดินเผา นำมาจัดแสดงโดยใช้พื้นที่ บริเวณเขื่อนยาง และเขตชุมชนสบตุ๋ย เทศบาลนครลำปาง จังหวัดลำปางอีกด้วย
ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร