24 มกราคม 2025

ทีมที่ปรึกษางานวิจัย มร.ลป. ร่วมเปิดการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสานรอบปฐมฤกษ์ สายอีสานตอนล่าง (อุบลราชธานี – บุรีรัมย์ -นครราชสีมา) ขบวนรถพิเศษ “SRT Royal Blossom” ผลักดันสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยขนส่งระบบราง มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 20  มกราคม  2568  นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมทีมที่ปรึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นำโดย ผศ.ดร.ณัฐนันท์ ฐิติยาปราโมทย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบัญชี (M.B.A.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.ปัณณทัต กัลยา อาจารย์กนกอร ศิริฐิติ อาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ผศ.ดร.สุขเกษม ลางคุลเสน อาจารย์ปิยะ วัตถพาณิชย์ อาจารย์สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ อ.ดร.ณัฐวุฒิ ปัญญา อาจารย์สาขาวิชาบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการตลาด สังกัดคณะวิทยาการจัดการ ผศ.รัชดาพร หวลอารมณ์ อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และนางทัศนีย์ วัฒโล เจ้าหน้าที่โครงการวิจัยฯ ร่วมเปิดการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสานรอบปฐมฤกษ์ สายอีสานตอนล่าง (อุบลราชธานี – บุรีรัมย์ -นครราชสีมา) ขบวนรถพิเศษ “SRT Royal Blossom” ระหว่างวันที่ 20 – 21 มกราคม 2568 ณ สถานีอุบลราชธานี อําเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี

โดย นายศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่เป็นกลไกในการผลักดันการพัฒนาการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Research Utilization; RU) เพื่อเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) เป็น 1 ใน 8 วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND อันเป็น Road Map ขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายศุภชัย กล่าวต่อว่าการท่องเที่ยวโดยรถไฟนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการผลักดันนโยบายดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัย สะดวกสบาย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางไปสัมผัสความงดงามของธรรมชาติและความหลากหลายทางวัฒนธรรมเปิดพื้นที่ใหม่ในการสร้างสรรค์สินค้า บริการ และกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรถไฟสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และส่งเสริมเศรมฐกิจสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 เริ่มต้นจากการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นจุดเริ่มต้นงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนักท่องเที่ยวจนเกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ในขณะเดียวกันก็ได้ขยายผลไปยังการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟสายใต้ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และสายอีสาน โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ผ่านความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามนโยบายการปรับปรุงการบริการและการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารด้วยการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวรถไฟทุกภูมิภาคของการรถไฟแห่งประเทศไทย “การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรถไฟเป็นโอกาสที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้วยการเปิดประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักและเมืองรองสู่เมืองน่าเที่ยว เชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งระบบรางของประเทศไทยตลอดจนการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้านอันจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป”