22 พฤศจิกายน 2024

มร.ลป. รับการตรวจเยี่ยมสถาบันอุดมศึกษาในการดำเนินงานโครงการยุวชนอาสาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวต้อนรับคณะกรรมการตรวจเยี่ยมโครงการยุวชนอาสา ประจำปีงบประมาณ 2567 นำโดยนางสุวรรณี คำมั่น ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยแลนวัตกรรม (สกสว.) นางนภาพร อาร์มสตรอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการอุดมศึกษา รศ.เพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร รองเลขาธิการ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นางสาวกีรติ แก้วสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนและพัฒนา อววน. และคณะ ณ ห้องประชุมโอฬารรมย์ ชั้น 1 อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยผศ.ปริตต์ สายสี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวสรุปผลการดำเนินงานและขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ

การตรวจเยี่ยมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ สำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนางานต่อไป ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้มีการนำเสนอการดำเนินโครงการยุวชนอาสา ประจำปี 2567 จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการการยกระดับคุณภาพชุมชนปลอดขยะด้วยการพัฒนาระบบสุขาภิบาลในโรงเรียนและชุมชน ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย อ.วิไลวรรณ กลิ่นถาวร อาจารย์สังกัดสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

2  โครงการการออกแบบและสร้างสรรค์เครื่องดนตรีสะล้อ ซอ ซึง โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมและงานเชิงช่างศิลป์ล้านนา สู่การรังสรรค์บทเพลงร่วมสมัย บ้านทุ่งฮี ตำบลวังทรายคำ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง นำเสนอโดย ผศ.เจษฎา ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

3 โครงการยุวชนจิตอาสาการพัฒนาและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้านล้านนาวิถีวอแก้ว นำเสนอโดย อ.ดร.อังคณา เชื้อเจ็ดตน อาจารย์สังกัดสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ ฯ ได้มีการเยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมโครงการยกระดับคุณภาพชุมชนปลอดขยะฯ ณ โรงเรียนชุมชนวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ทั้งนี้โครงการยุวชนอาสา เป็นจุดเปลี่ยนของการปรับระบบการศึกษาไทย ในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติควบคู่กับการเรียนรู้ในห้องเรียน เป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กยุคใหม่ ที่ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะในตำรา เปิดประสบการณ์ในการทำงานให้กับนักศึกษา ที่สอดแทรกความรู้ไปพร้อมๆกัน เป็นการเรียนรู้ที่มีชุมชนพื้นที่เป็นเหมือนครู โดยมีคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นคนช่วยวางกรอบแนวทาง เพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชน ซึ่งหากทุกมหาวิทยาลัยดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ จะเป็นการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพและคุณภาพตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี