เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 รศ.วิไลลักษณ์ พรมเสน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมด้วยทีมนักวิจัย ร่วมประชุมโครงการ “สร้างกลไกความร่วมมือแบบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์” ก้าวสู่ปีที่ 2 อย่างมั่นคง ณ ห้องประชุมโอฬารรมย์ชั้น 1 อาคารโอฬาร โรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนากลไกความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างภาคราชการ ภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคธุรกิจ ในการร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาเชิงระบบ โดยใช้พื้นที่จริงและเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการทำงานของทีมปฏิบัติการที่สามารถนำไปต่อยอดหรือขยายผลสู่พื้นที่อื่นได้ ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ในระดับท้องถิ่น จากนักวิจัยภายใต้โครงการฯ จำนวน 6 ทีม ดังนี้
1. ทีมสารปรับปรุงดิน “ฟื้นชีวิตดิน สร้างวิถีเกษตรยั่งยืน”นำเสนอการพัฒนาสารปรับปรุงดินจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและการทดลองจริงในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาดินเสื่อมคุณภาพ เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนของเกษตรกร
2. ทีมสมุนไพรแก้จน “พืชพื้นบ้าน พลิกชีวิตคนลำปาง” ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อสุขภาพและสร้างรายได้ ด้วยการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรท้องถิ่น พร้อมสร้างเครือข่ายการตลาดในชุมชน
3. ทีมกองทุนสวัสดิการเกื้อกูลคนยากจน จังหวัดลำปาง “สวัสดิการโดยชุมชน เพื่อชุมชน” ขับเคลื่อนกองทุนชุมชนแบบมีส่วนร่วม สร้างระบบสวัสดิการชุมชนที่เกื้อหนุนกันในยามจำเป็น ด้วยแนวคิด “คนลำปางไม่ทิ้งกัน”
4. ทีมจักรวาลไผ่ “สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยพลังแห่งไผ่” นำเสนอแนวทางการพัฒนาไผ่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการปลูก การแปรรูป และการตลาด โดยมีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวจากทรัพยากรท้องถิ่น
5. ทีมระบบ DSS (Decision Support System)”ใช้ข้อมูลตัดสินใจ เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างแม่นยำ” พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจในการบริหารจัดการพื้นที่อย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะในประเด็นปากท้องและภัยพิบัติ
6. ทีมปฏิบัติการกลาง “เชื่อมทุกพลัง ร้อยทุกภาคส่วน” ทำหน้าที่เป็นกลไกเชื่อมโยง สนับสนุน และประสานงานระหว่างทีมต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพสูงสุด
กิจกรรมในปีที่ 2 นี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญของทีมนักวิจัยโครงการแก้จน ฯ มร.ลป. ในการต่อยอดจากการลงพื้นที่จริงไปสู่การขยายผล เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านพลังของความร่วมมืออย่างแท้จริง