มร.ลำปาง ตอบโจทย์ อว. พลิกโฉมมหาวิทยาลัย เน้นเปลี่ยนวิถีเดิม สู่การสร้างวิถีใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยนางสุวรรณี คำมั่น และ นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Re-inventing University) ในฐานะคณะกรรมการประเมินผลงานประกวดสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มร.ลำปาง) จังหวัดลำปาง โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า การมอบรางวัลสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น เป็นนโยบายหนึ่งที่ รมว.อว. ต้องการสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่มีผลงานโดดเด่นในด้านต่างๆ โดยเห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งมีศักยภาพ และบทบาทที่แตกต่างกัน ดังนั้น การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาจึงทำให้สถาบันที่สังกัดแต่ละกลุ่มเข้าใจบริบทของตนเอง และมีแนวทางที่จะพัฒนาหรือขับเคลื่อนการทำงานที่สอดคล้องเหมาะสมกับกลุ่มนั้นๆ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่ม Area based มีการทำงานเชิงพื้นที่เป็นทุนเดิม ดังนั้น การจัดประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาเชิงพื้นที่ดีเด่นครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษา ได้นำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับชุมชนพื้นที่ การพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริบทของมหาวิทยาลัยได้เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการให้คนในชุมชนมีศักยภาพและสามารถดูแลจัดการและพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไปได้อย่างยั่งยืนในการปรับวิถีของอาชีพหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และช่วยเพิ่มเติมอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของคณาจารย์จากคณะต่างๆ บูรณาการความร่วมมือในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมจากทรัพยากรท้องถิ่น โดยให้คนในชุมชนเข้ามาเรียนรู้ในหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน มร.ลำปาง สามารถขยายผลองค์ความรู้ไปมากกว่า 15 ตำบล ในจังหวัดลำปางและลำพูน มีผลงานเด่น ประกอบด้วย การพัฒนาดินโดยใช้ฮิวมัสจากเหมืองแม่เมาะและปุ๋ยน้ำหมักสูตรน้ำจากกระถิน อีกทั้งยังร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (Nanotec) ในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมระบบการจัดการคุณภาพน้ำอย่างง่ายต้นทุนต่ำ คุณภาพสูง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งได้มีการนำร่องไปแล้ว มากกว่า 40 ครัวเรือน ในจังหวัดลำปาง
ด้าน ศ.ดร.พีระพงศ์ กล่าวเสริมว่า ควรจะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลผลิตเเละผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้แสดงความชื่นชม มร.ลำปาง ที่ได้ใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำไปช่วยชุมชนจนเกิดเป็นผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
จากนั้น ทางคณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจน้ำหมักกระถินบ้านสัก ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาปุ๋ยน้ำหมัก ในการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งเป็นผลผลิตภาคการเกษตรหลักของจังหวัดลำปาง โดยสามารถให้ผลผลิตที่ดีกว่าเดิมอีกด้วย