LPRUNEWS

งานประชาสัมพันธ์ข่าวมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

อาจารย์และนักศึกษาหลักสูตร ปร.ด. (ภาษาไทย) มร.ลป. ร่วมอภิปรายในงานประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68 “พหุปฏิสัมพันธ์:มนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์” ‘Interactive Pluralism: Human-Nonhuman’

เมื่อวันที่ 7 – 9 กรกฎาคม 2568 ผศ.ดร.ธนพร หมูคำ อาจารย์สังกัดสาขาวิชาภาษาไทย(ปร.ด.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมด้วย Miss Bai Lina และ Miss Hu Qiubo นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาษาไทย รหัส 65 เข้าร่วมอภิปรายในการประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68 “พหุปฏิสัมพันธ์:มนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์” ‘Interactive Pluralism: Human-Nonhuman’ โดยอภิปรายในหัวข้อ “มนุษย์กับเทคโนโลยี : บทเรียนจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ดาวซานถี่ อุบัติการณ์สงครามล้างโลก ของหลิว ฉือซิน” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพ ฯ

การร่วมอภิปรายในครั้งนี้ ได้รับคัดเลือก 1 ใน 27 เรื่อง จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งมีองค์ปาฐก 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.เก่งกิจ กิจเรียงลาภ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปาฐกถา หัวข้อ “พหุภาวะที่ปกครองไม่ได้ : ข้อจำกัดความรู้มนุษย์และโอกาสใหม่ในการเปลี่ยนแปลง” อ.ดร.ชยา วรรณะภูติ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปาฐกถา หัวข้อ “อากาศ สังคม และวิทยาศาสตร์ : สามทศวรรษของการศึกษามิติทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาทยาลัย ปาฐกถา หัวข้อ “ว่าด้วยการคิดเกี่ยวกับผืนโลก : สภาวะมนุษย์ การหักเหสู่สิ่งไม่ใช่มนุษย์ และการแปรร่างพรางรูปหลังมนุษยนิยม”

การเข้าร่วมอภิปรายในการประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อครอบคลุม 6 กรอบย่อย ได้แก่ การซึมผ่านและการบรรจบกันของมนุษย์และสิ่งอื่น (permeability & intersectionality) ข้อสงสัยและความคลุมเครือเกี่ยวกับอัตตาณัติและศักยภาพกระทำการ (autonomy & agency) การแปรสภาพและความรีบเร่งของเทคโนโลยี (transformation & immediacy) ปฏิสัมพันธ์กับความรับผิดชอบ (accountability) การสูญเสียการควบคุม (lost control) และความเปราะบางและความอ่อนแอ (fragility and vulnerability)

ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมานุษยวิทยา นักวิชาการอิสระ และนักวิจัยจากหลากหลายสถาบัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ ได้นำผลงานการวิจัยร่วมอภิปราย อันเป็นการสร้างประสบการณ์ทางวิชาการให้อาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตร ฯ ให้เกิดการเรียนรู้ทางวิชาการในเวทีวิชาการระดับชาติและจากการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง