22 มกราคม 2025

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ ฯ มร.ลป. จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการ “เหลียวหลัง แลหน้า มองจีนเรียนไทยในยุคดิจิทัล”

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ผศ.ดร.จิตรลดา มูลมา รองคณบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาทางวิชาการ “เหลียวหลัง แลหน้า มองจีนเรียนไทยในยุคดิจิทัล” ในรายวิชาสัมมนา ณ ห้องประชุมโอฬารรัตน์ อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

การจัดโครงการสัมมนาทางวิชาการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดเรียนการสอนในรายวิชาสัมมนา 1546901 ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 โดย ผศ.ดร.สุภาวดี ยาดี เป็นอาจารย์ผู้สอน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการสัมมนา นำความรู้ด้านภาษาไทยที่ได้จากการเรียนการสอน และประสบการณ์จากกรณีศึกษาต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ในการศึกษา วิเคราะห์ปัญหาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ โดยยึดหลักจริยธรรม มีทักษะทางปัญญา การวิเคราะห์ปัญหา การทำงานเป็นทีม และการใช้ทักษะการสื่อสาร

กิจกรรมภายในงานประกอบ ด้วยการแสดง จินตลีลา บทเพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” โดย นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ได้แก่ MissHuang Fen MissMa Mengmeng MissChen Nuo และ MissWang Caixia นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรร่วมเสวนา ในประเด็น “เหลียวหลัง : มองจีนเรียนไทยในวันวาน” โดย อ.วิวัฒน์ แดงสังวาล อาจารย์อาวุโส คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวถึงช่วงระยะเวลาแห่งความสัมพันธ์ทางการศึกษาระหว่างไทย – จีน ที่เริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยน อาจารย์กับมหาวิทยาลัยยูนนานนอร์มอล และการจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน จนกระทั่งเริ่มมีนักศึกษาจีนเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีเรื่อยมา ประเด็นที่สอง คือประเด็น “ผ่านยุคสมัย : มองจีนเรียนไทยในแรกเริ่ม” วิทยากรโดย อ.ดร.สิริญญา สุขสวัสดิ์ อาจารย์สังกัดสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสำหรับชาวต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวถึงค่านิยมของผู้เรียนชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีนที่สนใจภาษาไทยในหลักสูตรระยะสั้น รวมไปถึงระดับปริญญาตรี และประเด็นที่สาม “แลหน้า : มองจีนเรียนไทยในศาสตร์ที่ลุ่มลึก” โดย ผศ.ดร.ขนิษฐา ใจมโน อาจารย์สังกัดสาขาวิชาภาษาไทย ระดับปริญญาโท-เอก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวถึง จำนวนของนักศึกษาระดับบัณฑิตในช่วงที่ผ่านมากว่า 10 ปี พบว่ามีนักศึกษาชาวจีนที่สนใจเรียนภาษาไทยจำนวนมาก อีกทั้ง ยังนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิชาภาษาไทยที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนถึงความสนใจของผู้เรียนในประเด็นต่าง ๆ

ทั้งนี้ยังมีนักศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น “สู่ปัจจุบัน : มองตัวเองในฐานะผู้เรียนภาษาไทย” โดย MissMa Mengmeng และ MissWang Caixia กล่าวถึงการเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะการเรียนการสอนแบบไทยนักศึกษาได้มีโอกาสใกล้ชิดกับเจ้าของภาษา ส่งเสริมทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้น และประทับใจในด้านการดูแลเอาใจใส่ของคณาจารย์อีกด้วย