18 พฤศจิกายน 2024

นักวิจัยแผนกลางโครงการ “การสร้างกลไกความร่วมมือแบบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขจัดความยากจน ฯ” มร.ลป. ศึกษาดูงานจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ “สู้ชนะความจนบนฐานพลังความรู้และพลังภาคี”

ผศ.ดร.สุภาวดี ยาดี อาจารย์สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหารโครงการการสร้างกลไกความร่วมมือแบบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมของจังหวัดลำปาง ปี 2567 พร้อมด้วยนางสาววิไลรัตน์ วันกมลสวัสดิ์ นักวิจัยสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และทีมงาน เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานสื่อมวลชนสัญจรจังหวัดสุรินทร์ “สู้ชนะความจนบนฐานพลังความรู้และพลังภาคี” เมื่อระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2567 ณ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์

โดยวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนบ้านยะวึก (ผจงราษฎร์วิทยาคาร) ตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ โดยมี รศ.ดร.ฉลอง สุขทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ พร้อมด้วย ดร.พิจิตร บุญทัน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์  ได้ร่วมนำเสนอภาพรวมการทำงานในการพัฒนาเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ในการแก้ไขปัญหาความยากจนลดเหลื่อมล้ำ จังหวัดสุรินทร์ และการบูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยโมเดล “ผักอินทรีย์แก้จน” ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นประธาน นอกจากนี้นางสาวรามาวดี อินอุไร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แก้จน ชุมชนยะวึก ปฏิบัติการแก้จนชุมชนบ้านยะวึก ได้เล่าถึงภูมิหลัง จุดเริ่มต้น และผลของการดำเนินงานกลุ่มที่ผ่านมาพร้อมทั้งร่วมถอดบทเรียนกับสมาชิก โดยมีคุณศักดิ์ชัย พฤฒิภัค หัวหน้าโครงการวิจัยสื่อสารฯ และคุณวลัยลักษณ์ ชมโนนสูง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ TPBS ดำเนินรายการ

ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ บ้านนาเกียรตินิยม ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยทีมนักวิจัยฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้นำเสนอรูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนด้วยโมเดลเกษตรแปลงรวม โดยเริ่มขึ้นเมื่อปี 2564 จากการค้นพบศักยภาพของพื้นที่ Pilot Study บ้านหนองค่ายตำบลบ้านบัว อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการนำพื้นที่สาธารณะของชุมชน มาพัฒนาและจัดสรรให้ครัวเรือนคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้ทำเกษตร ด้วยการปลูกพืชผักเพื่อให้มีแหล่งอาหารในครัวเรือน ให้พออยู่พอกิน ลดรายจ่าย ตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การศึกษาดูงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดในการปฏิบัติงานให้แก่นักวิจัย ตลอดจนเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายนักวิจัยสถาบันอุดมศึกษากว่า 10 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้การจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่น ของหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) อันจะนำไปสู่การวางแผนปฏิบัติการร่วมกันและหนุนเสริมพลัง เพื่อช่วยเหลือคนจนเป้าหมายให้เข้าถึงโอกาสในการยกระดับฐานะทางสังคม ให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืนต่อไป