23 พฤศจิกายน 2024

มร.ลป.เปิดขบวนรถไฟท่องเที่ยวสายเหนือ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวรายงานการนำผลงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ณ สถานีรถไฟนครลำปาง อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง โดยมีนางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีเปิดขบวนรถไฟท่องเที่ยวสายเหนือ ตามโครงการวิจัยการนำผลงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือมาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการ จ.อุตรดิตถ์ นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง นายกฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก น.ส.สรินรัตน์ เกิดสกุลรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการ จ.สุโขทัย นายชาตรี ธินนท์ รองผู้ว่าราชการ จ.ลำพูน ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัยโครงการฯ นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรม
โครงการวิจัยนี้ได้รับงบประมาณจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) เพื่อดำเนินการวิจัยต่อเนื่องมาแล้วเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในปี 2564 คือ แผนงานวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟบนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา ได้ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ทำให้ต่อมาในปี 2565 ได้รับงบประมาณดำเนินการวิจัยตามแผนงานการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย (เชียงใหม่ – ลำปาง ไปยังพิษณุโลก) เพื่อขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก และแผนงานวิจัยนี้ทำให้เกิดหน่วยธุรกิจในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ภายใต้ชื่อโครงการการท่องเที่ยวรถไฟเชิงพาณิชย์ ที่ได้ดำเนินการจัดเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในรูปแบบแพ็คเกจทัวร์จากกรุงเทพมาสู่จังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินงานมาแล้ว 11 ครั้ง ก่อให้เกิดรายได้กับผู้ประกอบการและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในภาคเหนือจำนวนมาก
สำหรับปี 2567 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณต่อเนื่องเพื่อดำเนินโครงการวิจัยการนำผลงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือมาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนารูปแบบทางธุรกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในการสร้าง มูลค่าทางเศรษฐกิจ ดำเนินการให้บริการการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือส่วนขยายสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวใหม่เพื่อตอบรับตามความต้องการ และจัดทำแผนการขยายผลการให้บริการท่องเที่ยวโดยรถไฟ เพื่อเพิ่ม มูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป
ในปีนี้ได้ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวรถไฟสายเหนือโดยในระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน 2567 เป็นการท่องเที่ยวแบบ Oneday Trip จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและระหว่างวันที่ 13- 14 พฤศจิกายน 2567 เป็นการท่องเที่ยวแบบพักค้างคืนจากจังหวัดลำปาง ไปสู่จังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และสุโขทัยเพื่อเป็นการเชื่อมโยงเทศกาลลอยกระทงของภาคเหนือ
การเดินรถไฟท่องเที่ยวรอบปฐมฤกษ์ในวันนี้ทางโครงการได้รับความอนุเคราะห์จากการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้จัดขบวนรถ Royal Blossom ชุดที่ 2 ซึ่งเป็นรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวชุดใหม่มาใช้ในภาคเหนือเป็นครั้งแรกนอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้ความสำคัญและร่วมจัดกิจกรรม ณ จุดท่องเที่ยวตลอดเส้นทางรถไฟรอบปฐมฤกษ์นี้